วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ข้อแนะนำและเตือนภัยการใช้ไฟฟ้าในเวลาน้ำท่วม

             ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่อยู่นี้ ไอที24ชั่วโมง มีความห่วงใยทุกๆท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประสานขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีใกล้ตัวที่สุด อันมีประโยชน์อนันต์ แต่ก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากถูกไฟดูด โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำท่วมขัง จะยิ่งเป็นอันตรายอย่างมาก บทความนี้จึงนำข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า ทั้งก่อนน้ำท่วมและในขณะที่น้ำท่วมมาฝากกัน ด้วยความห่วงใยค่ะ….ขอขอบคุณ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ค่ะ

ข้อแนะนำเกี่ยวกับไฟฟ้าในกรณีที่มีน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง 

- ก่อนน้ำท่วมเข้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน ให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง
- กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง ให้ปลดสวิตช์ (เบรกเกอร์เมน) ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง และปลดเบรกเกอร์ย่อยลงให้หมด
- กรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบน โดยให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าปลดสวิตช์ที่ชั้นล่างให้เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าเพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง
- กรณีบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิตช์ไฟด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอาจอยู่เหนือระดับน้ำ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ *** ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมห้ามใช้งานเด็ดขาด ***
ควรอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายในพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 1 – 2 เมตร เพื่อความปลอดภัย
หากพบเห็นสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้มหรือสายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ อย่าเข้าใกล้หรือสัมผัส ให้รีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือสายด่วน กฟภ. โทร.1129 เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการแก้ไข
- พบผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้าหรือตัวนำที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย
* ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยางหรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนา แล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือใช้ผ้าคล้องหรือให้ผู้มีความรู้ด้านไฟฟ้าปลดสวิตช์ จากนั้น ปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล
* หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง ให้หลีกเลี่ยงและรีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือสายด่วน กฟภ. โทร.1129 โดยเร็วที่สุด
* อย่าลงไปในน้ำ กรณีมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง หาวัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้าเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้นหรือแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จึงค่อยช่วนผู้ประสบอันตราย
*** การช่วยผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า จำเป็นต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว รอบคอบและระมัดระวังเป็นพิเศษ ***
ที่มาข้อมูลและภาพ :
- แผนกส่งเสริมและเผยแพร่ความปลอดภัย กองมาตรฐานความปลอดภัย ฝ่ายมาตรฐานและความปลอดภัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด

…… (โปรดดูภาพประกอบวิธีปฏิบัติ) ……..
* เมื่อพบผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด * - การช่วยเหลือเบื้องต้น : ควรแยกผู้ประสบเหตุออกจากวงจรไฟฟ้า โดย
ปลดสวิตช์ที่จ่ายไฟ เช่น คัทเอาท์ เต้าเสียบออก หรือ
ใช้ไม้แห้ง เชือก แยกผู้ป่วยออกจากวงจรไฟฟ้า
จากนั้น เรียกและเขย่าตัวผู้ป่วยเพื่อดูว่าหมดสติหรือไม่และจัดผู้ป่วยให้นอนราบหงายบนพื้นแข็ง
* ถ้าหยุดหายใจ ต้องเป่าปาก *
ตรวจดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่และหากไม่หายใจ ให้ใช้มือกดหน้าผากผู้ป่วยให้แหงนขึ้นและใช้มืออีกข้างหนึ่งดันคางผู้ป่วยขึ้น
ให้เอานิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือบีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น แล้วเป่าลม หายใจเข้าปอดผู้ป่วยเต็มที่ 2 ครั้ง แล้วปล่อยให้ลมออก
* ถ้าหัวใจหยุดเต้น ต้องนวดหัวใจ *
ตรวจการเต้นของหัวใจผู้ป่วย โดยการคลำชีพจรที่คอหรือที่ข้อมือของผู้ป่วยประมาณ 5 วินาที
ใช้ 2 นิ้ววางเหนือตำแหน่งลิ้นปี่ วางส้นมือถัดจากตำแหน่งนิ้วทั้งสอง
ประสานมือซ้อนกัน แล้วโน้มตัวเข้าหาผู้ป่วย เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง
แล้วกดให้ตรงตำแหน่ง อัตราการนวดหัวใจ 30 ครั้ง ต่อ การเป่าปาก 2 ครั้ง
* ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น *
หากผู้ป่วยไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 30 ครั้ง เท่ากับ 1 ชุด
เป่าปากสลับกับการนวดหัวใจครบ 4 ชุด ให้ประเมินอาการของผู้ป่วย 1 ครั้ง โดยการจับชีพจร
* กรณีที่มีผู้ช่วยเหลือมากกว่า 1 คน *
เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 30 ครั้ง เท่ากับ 1 ชุด
เป่าปากสลับกับการนวดหัวใจ 4 ชุด ให้ประเมินอาการของผู้ป่วย 1 ครั้ง โดยการจับชีพจร
*** การปฐมพยาบาลต้องทำทันทีที่ช่วยผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดออกมาและควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ขณะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล จะต้องทำการปฐมพยาบาลตามขั้นตอนดังกล่าวตลอดเวลาจนกระทั่งถึงมือแพทย์ ***
ที่มาข้อมูลและภาพ : จากแผ่นพับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
จัดทำโดย แผนกส่งเสริมและเผยแพร่ความปลอดภัย กองมาตรฐานความปลอดภัย ฝ่ายมาตรฐานและความปลอดภัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สาเหตุที่จำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้าในขณะที่น้ำท่วมสูง

กรณีน้ำท่วมสูง อาจทำให้ระบบจำหน่ายของ กฟภ.ได้รับความเสียหายหรือเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเป็นต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราว โดยมีการประสานงานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

เมื่อ...ที่ทำงานเป็นพิษ!

อาการเจ็บป่วยขององค์กร ที่กำลังผลักให้คนเอาตัวและหัวใจออกห่าง แม้ยังทำงานอยู่ก็อยู่อย่าง Half withdrawn มาแต่ตัวหัวใจไม่มาด้วย
เวลาทำงานต่อสัปดาห์ของคนทำงานสะท้อนความสัมพันธ์ของคนต่อที่ทำงาน และยังสื่อนัยยะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ต่อความเป็นอยู่ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ในขณะที่สหรัฐอเมริกา เจ้าของวลี ไนท์ทูไฟว์ หรือ เก้าโมงเช้า ถึง ห้าโมงเย็น คนทำงานใช้เวลาทำงานปกติ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นับว่าอยู่ในระดับบรรทัดฐานค่าเฉลี่ย เมื่อเทียบกันฝรั่งเศสที่ชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า เพียงสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงเท่านั้น นับว่าน้อยกว่าอย่างน่าสนใจ เมื่อเทียบกับประเทศที่ชั่วโมงการทำงานปกติ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อย่างจีนและสิงคโปร์ แต่ถึงอย่างไรก็โค่นแชมป์อินเดียไม่ได้ ที่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 11 ชั่วโมง หรือ 66 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ข้อมูลดังกล่าวมา เราว่ากันที่ชั่วโมงทำงานปกติ ไม่ใช่ชีวิตจริงที่หากทำงานระดับบังคัญบัญชาบริหาร หรืองานในสายงานเฉพาะ ที่จำเป็นต้องใช้เวลาในงานเพื่อสร้างผลลัพท์ความสำเร็จ ซึ่งอาจให้และใช้เวลากับที่ทำงานมากกว่าข้อตกลงเพิ่มขึ้น 25-50% อย่างเป็นที่รู้กัน
หากที่ทำงานเป็นบ้านที่สอง คนทำงานมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ มีบรรยากาศ วัฒนธรรมที่เอื้อต่อความกระตือรือร้นและผูกพัน การจะทำงานเกินเวลาเพื่อสร้างความสำเร็จแก่องค์กรในภาพใหญ่ ไม่นับเป็นเรื่องอะไรได้เลย นอกจากความสมัครใจจริง
แต่หากสถานที่ทำงานเป็นที่ที่คนทำงานรู้สึกผิดที่ผิดทาง เข้ากันไม่ใคร่ได้ บรรยากาศทะมึน หรือคุณภาพความสัมพันธ์ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นด้วยปัจจัยทางเหตุผลหรืออารมณ์ การจะหวังความทุ่มเทเต็มที่ไม้ในเวลาทำงานปกติจึงเป็นเรื่องเกินจริงอยู่บ้างค่ะ
ทุกผลย่อมมีเหตุที่มา ก่อนจะว่ากันถึงสาเหตุของที่ทำงานเป็นพิษ ดิฉันขอนำเสนออาการเจ็บป่วยขององค์กรที่กำลังผลักให้คนเอาตัวและหัวใจออกห่าง และแม้ยังทำงานอยู่ก็อยู่อย่าง Half withdrawn คือ มาแต่ตัวหัวใจไม่มาด้วย ทำงานอย่างเสียไม่ได้ รู้สึกทนทุกข์ในที่ทำงาน กังวลและเครียดในทุกเย็นค่ำของวันอาทิตย์ จนกลายเป็นคนเกลียดวันจันทร์จนได้ในท้ายที่สุด
จากแนวคิดของ Kevin Kuske ที่นำเสนอวิธีการสร้างที่ทำงานที่เป็นสุข ได้กล่าวถึงลักษณะอาการของที่ทำงานเป็นพิษ อาจพ้องกับที่ทำงานบ้านเราบ้างก็เป็นได้ ลองพิจารณาดูค่ะ
1. คนทำงานด้วยความระแวดระวังสูง กังวลจนถึงเกร็งในสถานการณ์ทำงานปกติ สังเกตได้จากการพูด ปฎิบัติตัว หรือปฎิสัมพันธ์ ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สะดวกใจ มีความระแวงต่อทุกสถานการณ์คล้ายมีคนจับจ้องอยู่ ด้วยเกรงว่าทุกการกระทำและคำพูดจะส่งผลสะท้อนกลับเชิงลบ ลักษณะการณ์นี้แสดงถึงความไว้ใจในคนทำงานและที่ทำงานต่ำมาก
2. คนทำงานขาดชีวิตชีวา คล้ายหุ่นยนต์ เก็บตัวเงียบในที่โต๊ะหรือห้องทำงาน ไม่แสดงออกทางสีหน้า พูดน้อย เคลื่อนไหวน้อย สังเกตได้ชัดว่า ขาดแรงใจ ขาดความกระตือรือร้น ถึงขั้นทำงานเพื่อฆ่าเวลาให้จบไปวันๆ อาการนี้สื่อถึงความจำใจในการมาทำงาน
3. คนทำงานไม่รู้จักผลิตภัณฑ์บริการและเป้าหมายของธุรกิจ หากเดินสำรวจองค์กร ราวสี่หน่วยงาน จะหาความคล้ายคลึงหรือจุดร่วมแทบไม่ได้ หรือไม่มีเลย เพราะคนทำงาน ทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเท่านั้น โดยขาดความเชี่ยมโยง หรือใส่ใจ
4. ไร้อารมณ์ขัน ความสำคัญที่แท้ของการมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในที่ทำงาน เป็นการสื่อถึงความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อกันและกัน หากบรรยากาศแห้งแล้ง มีแต่ความเป็นทางการ ขาดความสนุกสดใส นอกจะเป็นสัญญาณของผลงานที่ต่ำแล้ว ยังหมายความถึงขวัญกำลังใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่น้อย
5. ขาดการปฏิสัมพันธ์ หากคนทำงานเดินเข้าสู่ที่ทำงาน ก้มหน้าก้มตาทำงานในหน้าที่ โดยไม่พบปะคบหา หรือพูดคุยกับผู้ใด กระทั่งถึงเวลากลับ นับเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องจับตา
อาการที่ทำงานเป็นพิษที่ว่า ย่อมเป็นผลที่มาจากเหตุหลากประการที่ผสมโรงร่วมกันและเพาะบ่มกลั่นตัวผ่านวันเวลา ทั้งยังถูกมองข้ามหรือเสริมแรงให้ดำรงคงอยู่ จนสร้างบรรยากาศพิษที่มีฤทธิ์กัดกร่อนบั่นทอนแรงใจ
ที่สำคัญที่สุด ยังกระจายตัวในบรรยากาศ เกิดการติดเชื้อที่ทำงานเป็นพิษได้อย่างแพร่หลาย ต่อเนื่องและลุกลาม กระทบบั่นทอนฉุดรั้งต่อทุกมิติของการจัดการและการแข่งขันในท้ายที่สุด
 
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย เสาวคนธ์ ศิรกิดากร

นวดอย่างไร ปลอดภัย ห่างไกลโรค

 
แอดมินเชื่อว่าหลายๆคนชอบนวดแผนไทย เลยนำมาฝากค่ะ
 
 
 
การนวดแผนไทย หรือนวดแผนโบราณ เป็นศาสตร์บำบัด และรักษาโรคแขนงหนึ่งที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการนวดนอกจากจะเป็นวิธีแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้รักษาอาการปวดแล้ว ยังสามารถช่วยเสริมในการบำบัดรักษาโรคได้อีกหลายชนิด เช่น ไมเกรน อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้การนวดที่ดูไม่มีอันตราย และเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในสายตาของคนทั่วไป แต่การนวดก็ยังมีข้อห้าม ข้อควรพึงระวัง ที่ผู้เข้ารับการนวดควรรู้และตระหนักเพื่อความปลอดภัย
รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอดีตนายกสมาคมศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนวดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้บำบัดรักษาโรคมายาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยการนวดถือเป็นการแพทย์มายาวนานแต่เริ่มมีการบันทึกในสมัยสุโขทัย โดยหากแบ่งตามศาสตร์การนวดแผนไทยแล้ว การนวดจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท การนวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นวิธีการนวดที่ค่อนข้างรุนแรง มีการใช้ศอก ใช้เข่า เท้าเหยียบ ดึงดัด เรียกว่าครบเครื่อง เป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป หรือทาสในสมัยนั้น ที่ต้องทำงานหนักร่างกายกำยำ
ส่วนประเภทที่ 2 คือ การนวดแบบราชสำนัก เป็นการนวดที่ปรับปรุงมาจากนวดแบบทั่วไปให้สุภาพและลดความรุนแรง เพื่อนวดเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก ใช้เท้าขึ้นไปเหยียบไม่ได้ เข่า ศอก ดึงดัด ตัดออกหมด ให้ใช้มืออย่างเดียว ซึ่งทุกวันนี้เรียกการนวดแบบราชสำนักว่า "นวดอายุรเวช" ซึ่งเป็นลักษณะของ "นวดกดจุด"
ปัจจุบันการนวดแผนไทยได้บูรณาการมาใช้ร่วมกับการแพทย์สมัยใหม่ใน 3 รูปแบบ ตามสรรพคุณ คือ
1. นวดเพื่อสุขภาพ เป็นการนวดเพื่อความผ่อนคลาย บำรุงสุขภาพ ทำให้สดชื่น กระฉับกระเฉง ดังเช่นสถานบริการนวดทั่วไป สปาต่างๆ เป็นการนวดที่มีให้บริการมากที่สุดในปัจจุบัน
2. นวดเพื่อการบำบัดรักษา ซึ่งได้ผลดีมากสำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรังของระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ เรื้อรัง สะบักจม ไหล่ติด รวมถึงนวดรักษาไมเกรน เป็นต้น
และ 3. นวดเพื่อการฟื้นฟูสรรถภาพ เป็นการนวดเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัว เช่น คนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายไม่ว่าจะเป็นระบบข้อต่อ กล้ามเนื้อ รวมถึงระบบไหลเวียนให้ฟื้นตัว ซึ่งในมุมมองของแพทย์สมัยใหม่เชื่อว่าการนวดแบบนี้ช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ และยังช่วยให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายสบายตัว และลดอาการเครียดของผู้ป่วยเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
แน่นอนว่าการนวดมีประโยชน์มากมาย ช่วยลดปวด ให้ความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใต แต่ก็เหมือนกับกรณีของการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัดที่มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามอยู่ไม่น้อย
รศ.นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า โดยภาพรวมการนวดถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัยหรืออันตรายน้อยมาก ถ้ารู้ข้อควรระวังหรือข้อห้าม อันได้แก่
- ระยะที่มีไข้ โดยเฉพาะไข้สูงเกิน 38.5 องศา ให้หลีกเลี่ยงการนวดเพราะกล้ามเนื้อยอกระบมได้ง่าย
- ข้อ และกล้ามเนื้ออักเสบในระยะเฉียบพลันที่มีอาการปวดมาก บวมแดง ให้หลีกเลี่ยงจนกว่าอาการจะทุเลาก่อน
- หลีกเลี่ยงการนวดบริเวณที่เคยมีกระดูกหัก หรือตำแหน่งที่มีการผ่าตัดกระดูก เช่น ผ่าตัดใส่ข้อเทียม เพราะกระดูกที่เคยหักเมื่อประสานกันแล้วจะไม่แข็งแรงเท่าเดิม อาจทนแรงกดไม่ได้ ส่วนบริเวณที่ใส่ข้อเทียมอาจมีการเคลื่อนหรือหลุดได้
- ภาวะข้อหลวมหรือเคลื่อน เช่น ผู้ป่วยไขข้อรูมาตอยด์ ผู้ที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อน ไหล่หลวม และหลุดบ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงการบีบนวดบริเวณของข้อนั้นๆ
- ผู้ที่มีภาวะผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เพราะอาจทำให้เลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจ้ำ หรือเป็นก้อนเลือดในกล้ามเนื้อได้ถ้านวดรุนแรง
- ผู้ที่มีปัญหามีลิ่มเลือดในหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานมาเป็นเวลานาน มีไขมัน ในเส้นเลือดสูง อาจจะมีผนังหลอดเลือดที่ขรุขระทำให้เกล็ดเลือดไปเกาะ และจับตัวกลายเป็นลิ่มเลือดได้ ซึ่งพบบ่อยที่บริเวณกล้ามเนื้อน่องทำให้มีอาการปวด และบวมแดง หากนวดแล้วลิ่มเลือดหลุด มักจะเข้าไปอุดเส้นเลือดที่ปอดและเป็นอันตรายต่อชีวิต
- ผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนขั้นรุนแรง ไม่แนะนำให้นวดเพราะกระดูกอาจหักได้
- ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง หรือมีบาดแผล ห้ามนวดหรือสัมผัสบริเวณนั้นๆ เพราะเสี่ยงต่อการติดโรคหรือติดเชื้อ
- ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งมักจะมีอาการปวดเมื่อย สามารถนวดได้เบาๆ แต่ต้องหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง
- ห้ามนวดในสตรีตั้งครรภ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรก เพราะเด็กในครรภ์ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ แต่ถ้าหากมีอาการปวดหลังในช่วงที่เลย 3 เดือนแรก นวดได้ แต่ด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรนวด บริเวณหน้าท้อง ควรนอนตะแคงนวด ไม่ให้นอนคว่ำ
สำหรับผู้ที่ไม่เคยนวดไทยมาก่อน ในการนวดครั้งแรกๆ อาจไม่แน่ใจ กล้าๆ กลัวๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งไม่ผ่อนคลายขณะถูกนวดจะปวดยอกตามมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ประจำ ไม่ต้องกังวล เพราะอาการต่างๆ เหล่านี้มักจะหายไปใน 1-3 วัน และจะรู้สึกสบายหายปวดเมื่อยตามมา แต่หากอาการปวดไม่หายหรือปวดมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
รศ.นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ในภาพรวมแล้ว การนวดเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากกับปัญหาปวดของระบบกระดูก และกล้ามที่เรื้อรัง เมื่อเทียบจำนวนผู้ที่มาใช้บริการกับผู้ที่เกิดปัญหาต้องถือว่าระดับความปลอดภัยในการนวดค่อนข้างดีมาก
หรือกล่าวอีกนัยคืออันตรายจากการนวด ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการรักษารูปแบบ อื่นๆ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามข้อควรระวังหรือข้อห้ามที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนใครที่มีปัญหาสุขภาพหากจะใช้บริการเรื่องนวดแบบบำบัดรักษา ควรให้ความสนใจเรื่องข้อควรระวังหรือข้อห้ามดังกล่าว และรักษากับผู้ที่มีใบรับรองด้านนี้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตามการนวดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบำบัดรักษา แต่การจะมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนนั้น รศ.นพ.ประดิษฐ์ แนะนำ ทิ้งท้ายว่า ควรกินอาหารที่เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงหรือรู้จักที่จะอยู่ร่วมกับความเครียดอย่างชาญฉลาด และหมั่นหาเวลาออกกำลังกาย ควบคู่ไปด้วย
"อันตรายจากการนวด ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการรักษา รูปแบบอื่นๆ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามข้อควรระวังหรือ ข้อห้าม"

 ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช

หนุ่มสาวออฟฟิศ ระวังความเครียดก่อโรค

นพ.สมดี รัตนาวิบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ให้ข้อมูลว่า กลุ่มคนวัยทำงานในปัจจุบันนี้มักมาพบแพทย์ด้วยโรคต่างๆ ที่เกิดจากความเครียด
ทั้งจากการแข่งขันภายในองค์กร เศรษฐกิจ สังคม และภาระจากหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัว ส่งผลให้หนุ่มสาววัยทำงานป่วยด้วยโรคอันเกิดจากความเครียดโดยไม่รู้ตัว
อาการที่มักจะแสดงส่วนใหญ่คือ ส่งผลให้ลำไส้และกระเพาะอาหารแปรปรวน พบมากในคนวัยทำงานที่มีอายุ 30-45 ปี นอกจากคนวัยทำงานที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ยังมีกลุ่มวัยรุ่นที่สะสมความเครียดจากการเรียนและความกดดันจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ ก็มาพบแพทย์ด้วยอาการเช่นนี้มากขึ้น
สำหรับอาการในเบื้องต้น ที่สังเกตได้ว่าเป็นโรคลำไส้และกระเพาะแปรปรวนคือระบบการขับถ่ายมีความผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรืออาจมีท้องผูกสลับท้องเสีย มีอาการปวดท้องบริเวณกลางท้องหรือท้องน้อย แน่นท้อง ท้องอืด ท้องใหญ่ขึ้นเหมือนมีลมอยู่ในท้อง อาจมีอาการเรอหรือผายลมบ่อย
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติบางอย่างในผนังลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียขึ้นได้ และด้วยระบบประสาทที่ผนังลำไส้มีความไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น อาหารรสจัด กาแฟ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต และสาเหตุสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ทั้งจากความเครียด ความวิตกกังวลก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติได้
เมื่อพบว่ามีภาวะเสี่ยงหรือมีอาการเบื้องต้นดังกล่าว ควรเริ่มปรับพฤติกรรมในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารแปรรูป เน้นอาหารที่มีกากใย รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น และควรไปปรึกษาแพทย์ในกรณีที่มีอาการของโรคมากขึ้น
ในการรักษาแพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น กลุ่มคนที่มีอาการปวดท้องอาจจะกินยาที่ช่วยคลายการบีบตัวของลำไส้ หากมีอาการท้องอืด มีลมในท้อง ก็จะให้ยาลดแก๊สในกระเพาะหรือยาขับลม แต่โรคนี้มักจะเป็นๆ หายๆ ในกลุ่มคนวัยทำงานเพราะความเครียดเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ส่งผลทำให้โรคลำไส้แปรปรวนแสดงอาการรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อเริ่มเกิดความเครียดลองกำหนดสมาธิ หายใจเข้าและออกช้า ลุกจากเก้าอี้ทำงานและเดินออกไปสูดอากาศภายนอก พักสายตาด้วยการมองไปที่ต้นไม้ดอกไม้ และหาน้ำเปล่าดื่มสักหนึ่งแก้วก่อนที่จะกลับไปทำงานต่อ
นอกจากนั้นหลังจากการทำงานในทุกๆ วัน ควรหาเวลาว่างไปออกกำลังกายให้ได้ประมาณ 30 นาที เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่ารีบรับประทานอาหาร ซึ่งการปรับพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะป้องกัน บรรเทา และรักษาอาการของโรคอันเกิดจากความเครียดได้
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

โรคพึงระวังในช่วงหน้าร้อน



ในหน้าร้อนใครหลายคนมักจะนึกถึงทะเล หรือการออกไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ แต่ก็อย่าท่องเที่ยวกันจนลืมระวังในเรื่องของการดูแลสุขภาพกันบ้างนะคะ เพราะหน้าร้อนนั้นเป็นที่มาของโรคหลายๆโรค หากไม่ดูแลตัวเองก็อาจถูกโรคร้ายคุกคามได้นะค่ะ และเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตัวเอง ก็มีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับหน้าร้อนมาบอกต่อกันค่ะ

1. โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea)
สาเหตุ       : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิที่ปะปนมากับอาหาร และเครื่องดื่ม

อาการ        : ในทารกและเด็กเล็กๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอาจมีไข้ต่ำๆเป็นหวัด ต่อมามีอาการคลื่นไส้อาเจียนและถ่ายอุจจาระเหลวตามมา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการอยู่นาน 1-6 วัน

วิธีป้องกัน   : สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยในการรับ ประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง


2. โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)สาเหตุ         :มีสาเหตุมาจากการที่เราได้รับสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร หรือผลิตสารพิษในลำไส้เมื่อเราบริโภคเข้าไป

อาการ          : มักเกิดอาการตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงจนถึง 8 วันหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปมักจะพบว่าในหมู่คนที่กินอาหารร่วมกันจะมีอาการพร้อมกันหลายคน ซึ่งอาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่ละบุคคล และปริมาณที่กิน อาการที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการมีไข้ เบื่ออาหาร และอุจจาระร่วง มีตั้งแต่อาการอย่างอ่อนจนถึงรุนแรง อาจถ่ายมีมูกเลือดปนได้

วิธีป้องกัน     : สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง


3. โรคอหิวาตกโรค (Cholera)
สาเหตุ          : มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานเชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษ ออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก

อาการ           :
ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก มีเนื้ออุจจาระน้อย เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันร่วมกับมีอาการ และอาการแสดงของการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว และรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ไม่ปวดท้อง

วิธีป้องกัน      : สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยในการรับ ประทานอาหารการเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง


4. โรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid)
สาเหตุ           : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi เชื้อนี้จะเจือปนอยู่ในน้ำและอาหาร

อาการ            : หลังจากได้รับเชื้อนี้1-2 สัปดาห์ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดอาการเบื่ออาหาร ปวดศีรษะปวดตามตัวมีไข้สูง40.5 องศา มีอาการท้องร่วง บางรายอาจจะมีผื่นขึ้นตามตัว บางรายอาจจะมีอาการแน่นท้อง หากไม่รักษาผู้ป่วยบางรายหายเองได้ใน 3-4 สัปดาห์

วิธีป้องกัน      : รับการฉีด วัคซีนป้องกัน ไทฟอยด์ ไข้ Avoid risky foods and drinks. อีกทั้งหลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่มีความเสี่ยง


5. โรคบิด (Dysentery)
สาเหตุ           : เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดบาซิลลัส นิยมเรียกว่าบิดไม่มีตัว เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดอะมีบยา นิยมเรียกว่าบิดมีตัว

อาการ           : 

บิดไม่มีตัว ช่วงที่อาการยังไม่รุนแรงจะไม่สบายท้อง ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด และปวดบิดแต่ไม่มาก ช่วงที่อาการรุนแรง จะปวดท้องบิดอย่างรุนแรงมีไข้สูง อาเจียน ถ่ายมีมูกเลือดและหนองปน ถ่ายน้อยแต่บ่อยมาก ถ้าร่างกายอ่อนแอมีโอกาสชักได้

บิดมีตัว การติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่ปรากฏอาการแต่อาจเป็นแบบบิดเฉียบพลัน มีไข้สูงหนาวสั่นอุจจาระร่วงมีเลือดหรือมูกปนเลือด หรือมีอาการเล็กน้อย อุจจาระร่วงมีเลือดหรือมูกปนสลับกับอาการท้องผูก เชื้ออาจแพร่กระจายไปตามกระแสโลหิต ทำให้เกิดก้อนฝีที่ตับ ปอด หรือสมอง

วิธีป้องกัน      : รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง ดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหารการเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือ หลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง


6. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
สาเหตุ            : เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาหายแต่สามารถป้องกันได้ผู้ป่วยมักคงสภาพอยู่ได้นานไม่เกิน 1 สัปดาห์ และเสียชีวิตเนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ ในประเทศไทยยังมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าโดยสาเหตุหลักเกิดขึ้นจาก สุนัข

อาการ             : อาการแสดงของโรคมักเป็นการอักเสบสมองและเยื่อสมอง ในระยะ 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัดทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้วต่อมาจะหงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นเต้นไวต่อสิ่งเร้ารอบกาย ไม่ชอบแสง ลม มีน้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็งขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ "กลัวน้ำ" ต่อมาจะเริ่ม เพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ ชัก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอัมพาตโดยมีอาการแขนขา
อ่อนแรงหมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด

วิธีป้องกัน        : การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดคือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัขกัดหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่จะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็น โรคอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุด คือ การเสริมภูมิคุ้มกันในสุนัขซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลัก รวมทั้ง การควบคุมจำนวนสุนัข

หน้าร้อนกับโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด


หมอกรมการแพทย์แนะรับมืออากาศร้อนจัดให้อยู่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงนี้   ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาโดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง
สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ  รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน  เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน  รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัว  ลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น  และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย สำหรับผู้ที่มี ความเสี่ยงในการเกิด  โรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ  เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด  ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง   เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด


สำหรับการปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก  คือ ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน ในวันที่มีอากาศร้อนจัด  ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำ   ให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว  ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าSPF 15 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษโดยให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบายได้ดี และไม่ให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพังในกรณีที่จะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรเป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที  เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัด
รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบเจอผู้เป็นโรคฮีทสโตรกสามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยนำเข้าในที่ร่ม  นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง  ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ตามซอกลำตัว คอ รักแร้  เชิงกราน ศีรษะ เพื่อระบาย ความร้อนร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด



ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์

ความปลอดภัยในสำนักงาน

      การระบุ อุบัติเหตและอันตรายจากการทำงานในสำนักงานเป็นสิ่งที่ยากต่อการระบุ ซึ่งโดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีกิจกรรมหรือพนักงานในสำนักงานเป็นจำนวนมาก บทความนี้จึงกล่าวถึงกิจกรรมความปลอดภัยในสำนักงานเพื่อให้แนวทางความรู้โดยทั่วๆไปเป็นหลัก  เราสามารถแยกประเภทของอุบัติเหตุในสำนักงานได้เป็น 7 ประเภท ดังนี้

1. การพลัดตกหกล้ม
เป็นอุบัติเหตุที่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานประสบมากที่สุด แต่มักจะละเลยจนดูเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ค่อยได้มีการบันทึกไว้ ดังนั้นหากมีการสอบสวนอุบัติเหตุ สามารถบันทึกการสูญเสียอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการพลัดตกหกล้มจัดได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้
  • การลื่นหรือการสะดุดหกล้มลักษณะที่เกิดจะมีทั้งสื่นล้มในพื้นที่ หรือพื้นที่ปูพรม ตรงตำแหน่งรอยต่อของพรม การสะดุดหกล้มมักจะเกิดจากมีสิ่งของวางขวาง หรือมีสายไฟห้อยไว้ระเกะระกะ เช่น สายไฟจากปลั๊กต่อที่พื้นหรือเต้าเสียบ หรือสายไฟที่ลากยาวไปตามพื้น โดยมิได้ติดเทป มักทำให้มีการเตะหรือสะดุดหกล้ม โดยเฉพาะบันไดขึ้นลง อาจมีการลื่นและสะดุดหกล้มเสมอ ๆ ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นพนักงานสาว ๆ มักใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการสะดุดและหกล้มได้
  • เก้าอี้ล้มมักจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้ปฏิบัติงานนั่ง หรือเลื่อนเก้าอี้ที่หมุน โดยการใช้เท้าดันออกให้ไหลลื่นแรงเกินไป ในบางกรณีเกิดจากการเอนไปข้างหลังมากเกินไปจนเกิดการหงายไปข้างหลัง บางครั้งผู้ปฏิบัติงานใช้เท้าพาดบนโต๊ะ และเกิดความไม่สมดุลย์ จากการเอียงตัว บางครั้งพบว่าผู้ปฏิบัติงานใช้เก้าอี้โดยไม่สมดุลย์ ทำให้เก้าอี้เลื่อนหนีและร่างกายผู้ปฏิบัติงานจะล้มตกจากเก้าอี้
  • การตกจากที่สูงมักจะมีสาเหตุจากการยืนบนโต๊ะหรือเก้าอี้ที่ไม่สมดุลย์ หรือไม่มั่นคง เช่น เก้าอี้มีล้อ โต๊ะหรือกล่องที่วางรองรับไม่แข็งแรง เมื่อผู้ปฏิบัติงานยืนขึ้นไปหยิบของลงมาอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานหกล้มตกลงมาเป็นอันตรายได้ ในสถานที่บางแห่งเปิดช่องไว้ แล้วไม่ปิดให้เรียบร้อย ผู้ปฏิบัติงานอาจพลาดตกลงไปเป็นอันตราย
 2. การยกเคลื่อนย้ายวัสดุ
       ผู้ปฏิบัติงานอาจต้องยกของซึ่งใช้ท่าทางการทำงานที่ผิดวิธี โดยไม่ได้รับการฝึกอบรมการจัดขั้นตอนหรือขบวนการทำงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเอื้อมหรือเขย่งจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายได้ การยกน้ำหนักมากเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดก่อให้เกิดการหักงอของกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดไหล่ อาการกดทับของประสาท หลักการ หลักการยกเคลื่อนย้ายวัสดุต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกวิธีและฝึกให้เป็นนิสัยจนสามารถปฏิบัติได้
3. การถูกชนหรือชนกับสิ่งของ
       ในบางพื้นที่แคบหรือในมุมอับจะพบว่า ผู้ปฏิบัติงานมักจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชนกัน หรือชนกับสิ่งของควรจะจัดพื้นที่เพื่อความเหมาะสม ทั้งจัดกระจกเงาติดตำแหน่งแยกทางเพื่อป้องกันการชน
4. การที่วัตถุตกลงมากระแทก
        วัตถุที่ตกมักจะวางอยู่ในตำแหน่งที่สูง และไม่มั่นคง เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนจะมีการขยับและเลื่อนตำแหน่ง เป็นเหตุให้มีการตกหรือหล่นลงมาถูกศีรษะของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านล่าง การเปิดลิ้นชักของตู้เก็บเอกสาร ผู้ปฏิบัติงานบางคนมักจะเปิดลิ้นชักค้างไว้และไปหาเอกสารในชั้นอื่นต่อไปเรื่อย ๆ ปริมาณเอกสารที่มากจะไหลมาอยู่ในทิศทางเดียวกันทำให้ตู้เก็บเอกสารขาดการสมดุลย์ล้มลงมาทับหรือกระแทกผู้ปฏิบัติงานจนเกิดอันตรายได้เครื่องเย็บ หรือเครื่องตัดกระดาษอาจก่อให้เกิดการกระแทก บาดเจ็บที่มือหรือข้อมือ
5. การถูกบาด
       อุปกรณ์สำนักงานบางอย่างจะมีความคมเช่น คัตเตอร์ตัดกระดาษผู้ปฏิบัติงาน หลายคนไม่ทราบวิธีการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างถูกต้องทำให้เกิดการบาดเจ็บ แม้กระทั่งกระดาษที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสารก็มีความคม ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานกีดกระดาษบางครั้งจะถูกกระดาษบาดจนเลือดออกได้
6. การเกี่ยวและหนีบ
        ในบริเวณที่ปฏิบัติงาน บางครั้งจะพบว่ามีการจัดวางของซึ่งยื่นออกมาจนมีการเกี่ยวผู้ปฏิบัติงานได้ บางครั้งจะพบผู้ปฏิบัติงานถูกประตู หน้าต่าง หรือตู้หนีบจนเกิดการบาดเจ็บ ตลอดจนการแต่งตัวของผู้ปฏิบัติงาน
7. อัคคีภัย
        จะถือว่าเป็นอุบัติเหตุประเภทที่รุนแรงที่สุด และทุกคนในสำนักงานก็จะตระหนัก ตื่นเต้น กับอัคคีภัยที่เกิดเสมอ ดังนั้นการฝึกปฏิบัติ การฝึกซ้อมการป้องกันและระงับอัคคีภัยและการอพยพผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานจึงมีความจำเป็น
 

        อันตรายจากสภาพแวดล้อมในสำนักงานทางด้านกายภาพ ได้แก่ อุณหภูมิ แสง เสียง การระบาย อากาศ ตลอดจนถึงรังสีที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ของสำนักงานในสำนักงาน นั้น ถ้าหากให้มีอุณหภูมิหรือคุณภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้อนเกินไป หรือหนาวเกินไปย่อมก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โรคปวดศีรษะจากการทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แสงสว่างในที่ทำงานมีเพียงพอแก่ลักษณะงานที่ทำหรือไม่ ถ้ามีมากเกินไปจนแสงจ้า ( Gare) หรือแสงน้อยเกินไป มีผลต่อการทำงานโดยตรง ต่อการปฏิบัติงาน เป็นต้นเหตุ การเกิดอุบัติเหตุ สภาพห้องที่มีเสียงดังรบกวนต่อสมาธิและการปฏิบัติงานก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ การดำเนินการเพื่อการป้องกันมีรายละเอียดในบทที่ 7 การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานในสำนักงาน
        นอกจากสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพแล้ว ยังมีสภาพแวดล้อมด้านเคมีคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ภายในสำนักงานไม่มีสารเคมี แต่ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในสำนักงานมากน้อยเพียงใด ผู้ปฏิบัติงานมักจะมิได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก อาจเนื่องมาจากสารเคมีต่าง ๆ มาอยู่ในลักษณะแฝงร่วมกับวัสดุและครุภัณฑ์สำนักงาน และมักมีปริมาณน้อยมากบางครั้งก็ตรวจวัดในบรรยากาศ ไม่พบแต่ปริมาณของสารเคมีที่มีอยู่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานและระบบระบายอากาศภายในห้องของสำนักงานนั้น สารเคมีส่วนใหญ่พบ ได้แก่ สารแอมโมเนีย , เมทธานอล, แอสเบสตอส, เบนซิน, โทลูอีน, คาร์บอนไดออกไซด,โอโซน, 1.1.1. ไตรคลอโรอีเทน ไตรคลอโรเอทธิลีน
 
อันตรายจากเครื่องถ่ายเอกสาร
        เครื่องถ่ายเอกสารเป็นอุปกรณ์สำนักงาน ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่แทบทุกสำนักงานจะขาดไม่ได้ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับมากมายจนผู้ใช้ละเลยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการใช้เครื่องถ่ายเอกสารเป็นเวลานาน ปกติแล้วเครื่องถ่ายเอกสารมีส่วนประกอบที่สำคัญอัน ได้แก่ แม่พิมพ์ที่เป็นโลหะ ลูกกลิ้งที่เคลือบด้วยโลหะ ประเภทซิลิเนี่ยม หรือ แคดเมี่ยม และรังสีอัลตราไวโอเลต จะสังเกตุเห็นขณะถ่ายเอกสาร
เครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้งจะใช้สะดวกแต่ขณะที่ใช้ก็จะมีอันตรายต่อสุขภาพจากสารเคมีต่าง ๆ ดังนี้
  1. ในหมึกพิมพ์จะมีสาร คาร์ซิโนเจน ซึ่งเป็นสารก่อเกิดมะเร็ง ผงคาร์บอน เมื่อผงคาร์บอนทำปฏิกิริยากัน สารไนโตรไพริน สารอะโรเมติกโพลี ไซคลิคไฮโดคาร์บอน สารเทอโม-พลาสติกเรซิน ขณะที่เครื่องทำงานจะมีกลิ่นฉุน จากปฏิกิริยาของสารเคมีดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้ใช้ที่ต้องสัมผัสนาน ๆ จะมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกมึนชา
  2. โลหะที่ใช้เคลือบลูกกลิ้ง เช่น ซิริเนียม หรือ แคดเมียม มีผลต่อผิวหนังทำให้เกิดความระคายเคือง มีตุ่มแดงหรือผื่นคัน นอกจากนั้นสารไตรไน โตรฟลูออริโนน เป็นสารก่อเกิดมะเร็ง
  3. รังสีอัลตราไวโอเลต เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน มีอันตรายต่อผิวหนังและสายตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ผิวหนังเกรียมไหม้ ถ้าสัมผัสนานอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
  4. โอโซน เกิดขณะที่เครื่องกำลังทำงาน เกิดมาจากรังสีอัลตราไวโอเลต โดยที่ออกซิเจนจะรวมตัวกัน จนกลายเป็นโอโซน เมื่อผู้ใช้หายใจเข้าไปจะมีผลต่อระบบประสาท มีอาการง่วง มึนศีรษะ ปากคอแห้ง ระคายระบบทางเดินหายใจ ระคายตาและผิวหนัง
  5. น้ำยาที่อาบกระดาษที่ใช้ในการถ่ายเอกสาร ได้แก่ สารฟอร์มัลดิไฮด์ ทำให้มีการระคายเคือง ของผิวหนัง ขณะที่ใช้งานอาจทำให้ผู้สัมผัสเป็นโรคผิวหนังอักเสบ
การป้องกันอันตราย
  • การติดตั้งเครื่องถ่ายเอกสาร ไม่ควรตั้งติดผนังควรตั้งในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้สารเคมีที่ออกมาขณะปฏิบัติงาน จะเจือจางลงเพื่อลดการสัมผัสสารเคมีของผู้ปฏิบัติงานได้ ถ้าสามารถติดตั้งในที่โล่งไม่ใช่ ในมุมอับจะดีมาก หรือแยกเครื่องถ่ายเอกสารจากห้องผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ
  • ถ้าได้กลิ่นฉุนหรือไหม้ เนื่องจากการใช้งานมาก ต้องเลิกใช้ชั่วคราว หรือถ้าจำเป็น แจ้งช่างหรือผู้รับผิดชอบ
  • การบำรุงรักษาเครื่องเป็นประจำอยู่เสมอ จะช่วยให้ลดสารเคมีที่อาจเพิ่มปริมาณจากการใช้งาน
  • อย่ามองแสง อัลตราไวโอเลต ควรใช้แผ่นปิดทุกครั้งที่ใช้ถ่ายเอกสาร
  • ขณะที่เปลี่ยนถ่ายสารเคมี หรือผงคาร์บอน ผู้ปฏิบัติงานควรใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย ได้แก่ถุงมือยาง ที่ครอบปาก ( Mask)
 
อันตรายและโรคที่เกิดกับการทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์        ก่อนอื่นต้องทราบความหมายของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า Visual display Terminals (VDT) คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการจัดการ ประมวลผล และแสดงข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยจอภาพ แป้นพิมพ์ แผงวงจรไฟฟ้า และตัวป้อนกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้จะรวมเอาอุปกรณ์นำเข้าข้อมูล (input) เช่น mouse หรือ pointer และอุปกรณ์นำออกข้อมูล (output) เช่น printer ปัจจุบันเกือบทุกสำนักงานมีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย วิวัฒนาการของอุปกรณ์เหล่านี้ได้พัฒนาเร็วมาก ปัญหาจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เก่า ๆ ถูกแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องยังต้องใช้สายตาในการเพ่งมองจอภาพจนเกิดอาการตาล้า และการกดแป้นพิมพ์หรือนั่งทำงานกับเครื่องเป็นเวลานานโดยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายส่งผลต่อปัญหาความปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อมือ หัวไหล่ หลังหรือเอว และมีความเครียดซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีอาการหงุดหงิด ขาดสมาธิ เกิดความล้า

        การที่ผู้ปฏิบัติงานมีอาการเจ็บ ปวดไหล่ ปวดหลังและปวดเอวต้องศึกษาดูถึงสาเหตุที่ทำให้เกิด เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานหรือขนาดของโต๊ะและเก้าอี้ของผู้ปฏิบัติงานไม่เหมาะสม ตลอดจนถึงท่าทางการทำงานซึ่งมีผลการหมุนเวียนของโลหิตไม่สะดวก กล้ามเนื้อของร่างกายจะได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความเมื่อยล้า และปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อทราบถึงสาเหตุ ซึ่งถ้าจากขนาดของโต๊ะ เก้าอี้ หรือระดับความสูงของอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ก็ควรจัดสภาพและท่าทางการนั่งที่เหมาะสมตามภาพประกอบที่ 12
        นอกจากนั้นระยะเวลาในการทำงานมีผลต่อการล้า จำเป็นต้องพิจารณาแก้ไขลักษณะงาน เช่น ทำงานอื่นร่วมด้วย หรือหากต้องอ่านหรือใช้แป้นพิมพ์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรที่จะกำหนดระยะเวลาในการสัมผัสว่าทำเพียง 50 นาที และพัก 10 นาที เพื่อใช้มีช่องว่างได้พักผ่อนสายตาและข้อมือ ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานควรได้มีการออกกำลังกายในช่วงเวลาพักที่กำหนดเพื่อให้มีการยืดเส้นยืดสาย และทำให้มีการหมุนเวียนของโลหิตดีขึ้นการบริหารร่างกายควรบริหารเริ่มตั้งแต่คอ หลังส่วนบน หน้าอก แขนและหัวไหล่ ตลอดจนถึงการบริหารเอว ข้อมือและแขนเป็นต้น ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานมีอาการล้าตา หรือระคายตาอาจเนื่องจาก จอคอมพิวเตอร์มีแสงจ้าเกินไป ซึ่งปกติไม่ควรเกิน 500 ลักซ์ ซึ่งแสงจ้าสามารถลดโดยการจัดวางตำแหน่งของแสง เครื่องจะใช้ Hood ครอบ หรือติดแผ่นกรองแสงแล้วแต่กรณี การจัดสภาพแวดล้อมหรือตำแหน่งการวางโต๊ะ เก้าอี้ กับตำแหน่งของแสงมีความสัมพันธ์กับการส่องสว่างค่อนข้างมาก ทั้งสามารถประหยัดพลังงานไปได้ส่วนหนึ่งปัญหาอีกอย่างที่สำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ ความเครียดอาจมีสาเหตุจากเสียงรบกวนจากเครื่อง Printer การใช้ mouse เสียงกดแป้นพิมพ์ หากมีเครื่องจำนวนมาก และพิมพ์พร้อมกันย่อมก่อให้ปัญหา มาตรการในการแก้ไขต้องวางแผนมาก่อนติดตั้งเริ่มดำเนินการ ซึ่งได้แก่ การปูพรม บุผนัง ด้วยอุปกรณ์ที่สามารถดูดเสียง หรือแยกแหล่งกำเนิดเสียงให้ออกจากห้องผู้ปฏิบัติงานนอกจากเรื่องของเสียงแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับอากาศอุณหภูมิ และความชื้นที่มีผลต่อผู้ปฏิบัติงาน จากการศึกษาพบว่าผู้ปฏิบัติงานควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ระหว่างอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ถึง 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 40% - 70% มีความดังของเสียงไม่ควรเกิน 65 เดซิเบล จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด
       ปัญหาอีกอย่างที่มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานคือความล้าของตา เนื่องจากระยะของการมอง ซึ่งต้องมองระยะใกล้เป็นเวลานาน เมื่อพักสายตา จะแก้ไขด้วยการมองไกลและการบริหารนัยตา ด้วยการกลอกตาเป็นวงกลม มองไปรอบ ๆ กว้างตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ และกระพริบตาบ่อย ๆ เพื่อให้น้ำตาหล่อเลี้ยงได้ทั้งตา ช่วยลดความระคายตาและการล้าของต
 
Sick Building Syndrome         นอกจากสารเคมีที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังได้พบผู้ที่ทำงานในสำนักงาน มีอาการของโรคที่เกิดขึ้นจนระบุชื่อว่าเป็นโรค Regionair Disease หรือ Sick Building Syndrome ซึ่งหมายถึงโรคอันเกิดขึ้นจากการทำงานในอาคารสำนักงาน ซึ่งได้จากการรวบรวมการบันทึกรายงานอาการของคนที่ทำงานในสำนักงานยุคใหม่ จากการศึกษาวิจัย ความสัมพันธ์ระหว่างอาการของโรคเหล่านี้กับระบบการระบายอากาศ หรือแหล่งมลภาวะที่เกิดขึ้นจากภายในและภายนอกอาคาร เนื่องมาจากคนที่ทำงานในสำนักงานนั้นต้องหายใจเอามลภาวะดังกล่าว โดยปราศจากวิธีการหรือมาตรการป้องกันอย่างถูกต้อง ลักษณะอาการต่าง ๆ ที่พบได้แก่ อาการปวดศีรษะ มึนงง เมื่อยล้า การระคายเคืองตา อาการไอ จมูกอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียร ปวดท้อง เจ็บหน้าอก อาการต่าง ๆ เหล่านี้มองดูเหมือนเป็นอาการทั่ว ๆ ไปที่ไม่รุนแรงแต่เมื่อเป็นเรื้อรังทำให้ผู้ปฏิบัติงานอาจเป็น โรคหอบหืด ซึ่งจะปรากฎชัดเจนยิ่งขึ้น ได้มีการศึกษาวิจัยโดยการสำรวจผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน 2 แห่ง การเก็บข้อมูลได้เก็บจากผู้ปฏิบัติงานบันทึกข้อมูลของตนเองตามแบบสอบถามข้อมูลจากการไปพบแพทย์ และเอกสารที่เกี่ยวกับปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน

         ในการศึกษาขององค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 1984 ได้มีรายงานเสนอแนะเกี่ยวกับคนที่ทำงานในตึกหรืออาคารสูงที่เป็นผู้อาศัยใหม่จำนวนร้อยละ 30 ได้มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของอากาศภายในตัวอาคาร ซึ่งเกิดจากการออกแบบอาคารที่ไม่ดี หรือปัญหาจากผู้อยู่อาศัยก่อให้เกิดมลภาวะ โดยมีข้อบ่งชี้ นอกจากอาคารตามที่ระบุแล้ว บางครั้งไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค และผู้ที่มีอาการมักจะมีอาการดีขึ้น หรือหายป่วยหลังจากได้ออกจากอาคารนั้นไปแล้ว จากการศึกษาพบว่าคุณภาพของ อากาศมีความสำคัญ ได้มีข้อเสนอแนะจาก The American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers (ASHRAE) ค่ามาตรฐานในการจัดการระบายอากาศโดยกำหนดปริมาตรของอากาศ 2 ภายนอกอาคาร 15 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาทีต่อคน ในสำนักงานกำหนดให้มีปริมาตรของอากาศ 20 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาทีต่อคน ในพื้นที่ที่มีการสูบบุหรี่ต้องเพิ่มปริมาตรของอากาศให้สูงถึง 60 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาทีต่อค
        นอกจากนั้นปัญหาจากสภาพแวดล้อมของสารเคมีและสารชีวภาพ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และเมล็ดพืช ฝุ่นต่าง ๆ ก็มีผลต่อการเกิดโรคตึกด้วย
การป้องกันและแก้ไข
  • แก้ไขปัญหาระบบทางเดินอากาศโดยระบบ Heat Vantilation Air Condition (HVAC) เช่น การทำความสะอาดแผ่นกรอง ฝ้า เพดาน พรม
  • มีมาตรการเด็ดขาดเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ส่วนการใช้สี กาว สารละลาย และยาฆ่าแมลงให้ดำเนินการในพื้นที่มีการระบายอากาศดี
  • อุปกรณ์เกี่ยวกับการทำความสะอาดอากาศ แต่บางครั้งมีข้อจำกัดในการใช้
  • การให้การฝึกอบรมและการสื่อสารระหว่างบุคคลมีความสำคัญต่อโครงการจัดการเกี่ยวกับคุณภาพของอากาศภายในอาคาร