ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงาน
ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูง
วัสดุกระเด็น ตกหล่น และการพังทลาย อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2515 กระทรวงมหาดไทยจึงออกประกาศกำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยสำหรับลูกจ้างที่ทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูง วัสดุกระเด็น ตกหล่น และการพังทลายไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูง วัสดุกระเด็น ตกหล่น และการพังทลาย”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับ มอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล นั้น และหมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเอง หรือไม่ก็ตาม “การทำงานในลักษณะโดดเดี่ยว” หมายความว่า การทำงานบนที่ที่อาจตกหล่นลงมาได้ง่าย เช่น การทำงานบนเสา ตอม่อ หลังคา ระเบียง หมวด 1 การป้องกันการตกจากที่สูง ส่วนที่ 1 ข้อกำหนดทั่วไป
ข้อ 4 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานสูงจากพื้นที่ที่ปฏิบัติงานเกินสองเมตรขึ้นไป เช่น บนหลังคา บนขอบ ระเบียงด้านนอก จะต้องป้องกันการตกหล่นของลูกจ้างโดยจัดให้มีนั่งร้านมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยนั่งร้าน สำหรับลูกจ้างใช้ในขณะ ปฏิบัติงาน
ข้อ 5 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะโดดเดี่ยวที่สูงเกินสี่เมตรขึ้นไป เช่น บนหลังคา หรือบนขอบ ระเบียงด้านนอก ต้องป้องกันการตกหล่นของลูกจ้างและสิ่งของ โดยจัดทำราวกันตกหรือ ตาข่ายนิรภัย หรือจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิต หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน ตลอดระยะเวลาที่มีการทำงาน ในกรณีใช้เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิต นายจ้างจะต้องจัดทำที่ยึดตรึงสายช่วยชีวิตไว้กับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร หรือโครงสร้าง
ข้อ 6 ช่องเปิดหรือปล่องต่างๆ นายจ้างต้องจัดทำผาปิดหรือรั้วกันที่มีความสูงไม่น้อยกว่าเก้าสิบเซนติเมตรเพื่อป้องกันการตกหล่น
ข้อ 7 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานบนที่สูงตามข้อ 4 และข้อ 5 ในขณะที่มีพายุ ลมแรง ฝนตก หรือฟ้าคะนอง ส่วนที่ 2 การป้องกันอันตรายจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ
ข้อ 8 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานบนหรือในถัง บ่อหรือกรวยสำหรับเทวัสดุหรือภาชนะอื่นใดที่ลูกจ้างอาจตกลงไปหรืออาจถูกวัสดุพังทับ เว้นแต่นายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัยหรือสิ่งปิดกั้น หรือทำรั้ว หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน
ข้อ 9 ให้นายจ้างปิดกั้น หรือจัดทำรั้วที่แข็งแรงมีความสูงไม่น้อยกว่าเก้าสิบเซนติเมตร ล้อมรอบภาชนะบรรจุของร้อน กรวย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกันเพื่อป้องกันการตกหล่นของ ลูกจ้าง ส่วนที่ 3 การป้องกันการตกหล่นจากที่ลาดชัน
ข้อ 10 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานบนที่ลาดชันที่ทำมุมเกินสามสิบองศาจากแนวราบ ในกรณีที่มีการทำงานบนที่ลาดชันเกินสิบห้าองศา นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้านมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยนั่งร้าน หรือเข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิต หรืออุปกรณ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน สำหรับลูกจ้างใช้ในการปฏิบัติงาน
ข้อ 11 ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้บันไดไต่ชนิดเคลื่อนย้ายได้เพื่อปฏิบัติงานบนที่สูง นายจ้างต้องดูแลการตั้งบันไดให้ระยะระหว่างฐานบันไดถึงผนังที่วางพาดบันไดกับความยาวของช่วงบันไดนับจากฐานถึงจุด พาด มีอัตราส่วนหนึ่งต่อสี่ หรือมีมุมบันได้ที่ตรงข้ามผนังประมาณเจ็ดสิบห้าองศา
ข้อ 12 ในกรณีที่ลูกจ้างต้องปฏิบัติงานโดยใช้บันไดไต่ชนิดติดตรึงกับที่ที่มีความสูงเกินสิบเมตรขึ้นไปจากพื้นดินหรือพื้นอาคาร บันไดนั้นต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง ไม่ผุกร่อนและต้องจัดทำโกร่งบันไดป้องกันการตกหล่นของลูกจ้าง
ข้อ 13 ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้ขาหยั่งหรือม้ายืนในการปฏิบัติงาน นายจ้างต้องดูแลขาหยั่งหรือ ม้ายืนนั้นให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงปลอดภัย ขาแต่ละข้างต้องทำมุมกับพื้นในองศาที่เท่ากันโดยอยู่ระหว่างหกสิบถึงเจ็ดสิบองศา ถ้าขาหยั่งม้ายืนนั้นเป็นชนิดมีบันไดขึ้นต้องมีพื้นที่สำหรับยืนปฏิบัติงานอย่าง เพียงพอ หมวด 2 การป้องกันอันตรายจากการพังทลาย วัสดุกระเด็น ตกหล่น
ข้อ 14 นายจ้างที่ให้ลูกจ้างทำงานในบริเวณที่อาจมีการพังทลายตกหล่นของหิน ดิน ทราย หรือวัสดุต่างๆ ต้องปฏิบัติดังนี้ (1) จัดทำไหล่หิน ดิน ทราย หรือวัสดุอื่นให้ลาดเอียงเป็นมุมที่ไม่ทำให้เกิดการพังทลาย และทำการป้องกันการกัดเซาะของน้ำ เช่น การอัดไหล่หิน ดิน ทราย ให้แน่น หรือใช้วัสดุอื่นใดที่สามารถป้องกันการรั่วซึมได้ ในกรณีขุดดินลึกทำมุมเก้าสิบองศา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ลูกจ้างให้นายจ้างจัดทำผนังกั้นหรือวัสดุกันพร้อมค้ำยัน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกันอันตรายจากการพังทลายของดินได้ (2) ในกรณีที่ให้ลูกจ้างทำงานในท่อ ช่อง โพรง อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ ที่อาจมีการพังทลาย จะต้องจัดทำผนังกั้น ค้ำยัน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกันอันตรายที่สามารถป้องกันอันตรายนั้นได้
ข้อ 15 ให้นายจ้างป้องกันการกระเด็น ตกหล่นของวัสดุโดยใช้แผ่นกั้น ผ้าใบหรือตาข่าย ปิดกั้นหรือรองรับ ในกรณีที่มีการลำเลียงวัสดุจากที่สูง นายจ้างต้องจัดทำราง ปล่อง หรือใช้เครื่องมือลำเลียงจากที่สูง ข้อ 16 ให้นายจ้างปิดประกาศแสดงเขตที่มีการเหวี่ยง สาด เททิ้งหรือโยนวัสดุจากที่สูง และมีผู้ควบคุมดูแลมิให้มีการเข้าออกขณะปฏิบัติงานจนกว่างานจะแล้วเสร็จ
ข้อ 17 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานใกล้สถานที่ก่อสร้างที่มีความสูงหรือสถานที่ที่อาจมีการปลิวหรือตกหล่นของวัสดุ รวมทั้งการให้ทำงานที่อาจมีวัสดุกระเด็นตกหล่นลงมา เช่น งานต่อเรือ งานเจาะ งานสกัด งานรื้อถอนทำลาย ต้องจัดหมวกแข็งป้องกันศีรษะให้ลูกจ้างใช้ตลอดเวลาการทำงาน หมวด 3 เบ็ดเตล็ด
ข้อ 18 ลูกจ้างจะต้องใช้หรือสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่นายจ้างจัดให้ใช้ตามลักษณะและสภาพของงานตลอดเวลาที่ทำงาน
ข้อ 19 ให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามประกาศนี้
ข้อ 20 เมื่อปรากฏว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างได้ปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนเสียก่อนก็ได้
ประกาศ ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2534 เจริญจิตต์ ณ สงขลา รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 200
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2534
ที่มา...http://www.dpck5.com/DPC5/law_14.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น